วิธีเปลี่ยนสำเนียงภาษาอังกฤษให้เป็นสำเนียงอเมริกัน
ตอนเด็กๆ มีความเชื่อว่า คนไทยเรียนภาษาอังกฤษในประเทศไทยยังไงก็ไม่มีทางพูดให้สำเนียงเหมือนฝรั่งได้หรอก แล้วก็ไม่สนใจที่จะปรับเปลี่ยนสำเนียงตัวเองด้วยครับ เพราะคิดว่าไม่เห็นจำเป็นเลย แค่พอสื่อสารรู้เรื่อง ก็พอแล้ว
แต่เอาเข้าจริง สำเนียงภาษา ก็คือ บุคลิกภาพ ของเรา ถ้าเราพูดได้ไม่ชัด สิ่งที่เราต้องการส่งไปถึงผู้ฝังก็จะได้ไม่ครบถ้วน ลองนึกเวลามีคนมาพูดภาษาไทยไม่ชัดให้เราฟัง เราก็จะไม่อยากฟัง หรือ ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ใช่ไหมครับ
วันนี้เลยจะมาแชร์วิธีการฝึกการออกเสียงสำเนียงอเมริกันภายใน 2 อาทิตย์ !!!
สำเนียงภาษาที่ดี ก็คือ การพูดให้ถูกต้องชัดเจน
การฝึกออกสำเนียง ก็คือ การออกเสียงให้ถูกต้อง ชัดเจน ไม่ใช่ใส่ความกระแดะ หรือ ความดัดจริต ลงไป เวลาพูดภาษาอังกฤษแล้วใส่ตัว R ตัว S ลงไปเยอะๆ นี่ไม่ใช่นะครับ การออกสำเนียงให้ถูกต้อง ต้องเข้าใจถึงความแตกต่างก่อนว่าการออกเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษแตกต่างกันอย่างไร และมีเทคนิคการออกเสียงอย่างไรบ้าง
มีอยู่ช่วงนึง บังเอิญโชคดีน้องสาวชวนไปเรียนภาษาอังกฤษกับครูเคท (ใครสนใจลองจิ้มตามไปดูนะครับ ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด) ตอนไปเรียนก็พบกับสิ่งที่น่าตกใจคือ เด็กๆ ที่มาเรียน สำเนียงไฮโซเว่อวังมากกกก ตอนเรียนก็ตื่นเต้นเร้าใจ เค้าก็สอนเทคนิคมากมายหลากหลาย แต่ด้วยความที่เราขี้เกียจ ก็ไม่ได้ฝึกอย่างไร จนจะต้องไปสัมภาษณ์เข้าปริญญาเอก ก็เลยเป็น Milestone ในชีวิตว่า เราจะต้อง Up ภาษาเราให้ดีขึ้นให้ได้ (ก็เรียนปริญญาเอกที่เมืองไทยนี่แหละครับ แต่เป็นความโรคจิตส่วนตัว ว่าจะต้องทำให้ได้)
จากนั้นเราก็ตั้งใจฝึกเป็นบ้าเป็นหลังอยู่ 2 อาทิตย์ติด โดยไม่สนใจว่าสำเนียงจะเป็นอย่างไร (ใช้หลักศรัทธา ฝึกตะลุยไปเรื่อยๆ) ตอนสัมภาษณ์ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี พอจบสัมภาษณ์ก็มีอาจารย์ท่านนึงถามว่า คุณไปฝึกภาษาอังกฤษที่ไหนมา พูดได้ดีกว่าคนที่ไปอยู่อเมริกาเป็นสิบปีอีก … เราก็ยิ้มในใจ อิอิ
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ยังไม่ผ่านมาตรฐานครูเคท ตอนนั้นครูเคทชวนไปสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน เลยถูกติวเข้มอย่างหนักหน่วงประหนึ่งจะไปแข่งโอลิมปิกเกมส์กันเลยทีเดียว
เทคนิคการออกเสียงภาษาอังกฤษ
ขอมาสรุปสั้นๆ ในหลักการว่า เทคนิคที่ควรรู้สำหรับการออกเสียงภาษาอังกฤษเป็นอย่างไรนะครับ
1.การออกเสียงของภาษาอังกฤษไม่เหมือนภาษาไทย
ภาษาไทยจะเป็นการรวบผสมเสียง ภาษาอังกฤษจะเป็นการแตกเสียง
ตัวอย่างเช่น คำว่า “กิน”
ภาษาไทยออกเสียงแค่ กิน
ภาษาอังกฤษออกว่า เกอะ … อิ๊ ….. เหนอะ
คำว่า “ขนม”
ภาษาไทยออกเสียงแค่ ขะ-หนม
ภาษาอังกฤษออกว่า เขอะ … อ๊ะ….. เหนอะ … โอ๊ะ …. เหมอะ
ลองออกเสียงตามดูสิครับ จะพบว่า มันรวบมาเป็นเสียงเดียวกัน
2.ต้องออกเสียงพยัญชนะและสระให้ถูกต้อง
ให้ลืมการออกเสียง A-Z ที่เคยเรียนมาในอดีตทิ้งไปได้เลยครับ แต่ละตัวก็จะมี Details ในการออกเสียง มีการบังคับรูปปากให้ออกมาไม่เหมือนกัน
ตัวอย่างเช่น ตัว L กับ ตัว R
ตัว L เวลาออกเสียงจะเป็นรูปปาก ยิ้ม
ตัว R ปากจะเป็นรูปปากหมู
3.การผสมเสียงของพยัญชนะบางตัว
พอเรารู้วิธีออกเสียงพยัญชนะแต่ละตัวแล้ว พอเอามารวมกัน ก็มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ บางอย่าง เช่น
ถ้า ตัว R เป็นพยัญชนะตัวที่สอง ให้ใส่เสียง “อู” ในพยัญชนะตัวแรก
ตัวอย่างคำว่า Print เวลา ออกเสียง ก็ให้ออกว่า
พู — เหรอะ — อิ๊น — เถอะ หรือ ออกง่ายๆว่า พู — ริ๊น — เถอะ
แต่ถ้าเป็น ตัว L เป็นพยัญชนะตัวที่สอง ให้ใส่เสียง “อืล” ในพยัญชนะตัวแรก
ตัวอย่างคำว่า Black เวลา ออกเสียง ก็ให้ออกว่า
บืล— เหลอะ — แอ๊ะ — เขอะ หรือ ออกง่ายๆว่า บืล — แอ๊ค — เขอะ
4.การ Stress เสียง
ภาษาไทยกระแทกเสียง หรือ เน้นเสียงทุกพยางค์ เช่น กระเบื้อง ก็ออกชัดทั้งสองพยางค์ ใช่ไหมครับ
แต่ภาษาอังกฤษนี่ จะมีการกระแทกเสียงแค่บางพยางค์ในหนึ่งคำ
ตัวอย่างคำว่า Performance ก็ จะออก เพอ—ฟ๊อมมมม — เหมิ่น
ตัวแรก กับ ตัวหลัง ออกเบาๆ อึนๆ แต่ตัวที่สองก็กระแทกเสียงแรงๆ
มันไม่มีหลักการใดๆ ในการ stress ไม่ต้องท่องว่ากี่พยางค์ stress ตัวที่เท่าไหร่ ความเคยชินล้วนๆ ครับ
5.การออกเสียง Intonation
พอเรารู้หลักการในการออกเสียงทีละพยัญชนะ เอามารวบเป็นคำแล้ว ต่อไปก็ต้องออกเสียงเป็นประโยคได้ ซึ่งอันนี้ เรียกว่า Intonation ก็คือ เวลาพูดเป็นประโยคยาวๆ จะเหมือนร้องเพลงเลยฮะ มีเสียงขึ้น เสียงลง มีหนัก มีเบา พวกนี้ ไปตามอารมณ์ล้วนๆ ไม่มีหลักการเท่าไหร่ หลักๆ ก็คือ ไม่ต้องพูดเน้นทุกคำ มีกร่อนเสียงบางคำ ออกครึ่งเสียงบ้าง เช่น How are you doing?
เวลาออกเสียง ก็ออกว่า ฮาว เหรอะ เหยอะ ดูอิ้ง
ออกเน้นแค่ตัวหนาครับ ที่เหลือ ออกเสียงมั่วๆไป เสียงมั่วๆ นี้ จริงๆ ก็ไม่มั่วนะครับ เราเรียกว่า Weak Form ก็คือ ออกแค่ครึ่งเสียง เป็นเสียงที่ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเสียงอะไรยังไง ต้องฝึกครับ ทำใจลำบากมากกว่าจะออกเสียงพวกนี้ได้
มาเข้าวิธีการฝึกกันครับ ฝึกตามนี้ รับรองว่าสำเนียงดีเลิศแน่นอน
ถ้าอยากเปลี่ยนสำเนียงได้จริง เริ่มต้นเลย คือ ห้ามมีข้ออ้าง และ ต้องมีวินัย ศรัทธาในกระบวนการเข้าไว้ ทำแบบไม่ต้องสนใจอะไร ใช้ลูกบ้าในการฝึก แล้วคุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง Block เวลาตัวเองไว้เลย ช่วง 20.00–21.00 หรือ ช่วงไหนก็ได้ ที่สะดวก ขั้นตอนในการฝึกมีดังนี้
1.บริหารกล้ามเนื้อปาก
เนื่องจากการพูดภาษาอังกฤษใช้กล้ามเนื้อจำนวนมากในการบังคับรูปปากเพื่อให้ออกเสียงได้ถูกต้อง (จริงๆ ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ ภาษาไทยก็จะพูดชัดและเพราะขึ้นครับ) หลายคนคงเคยประสบปัญหาเวลาพูดภาษาอังกฤษแล้วลิ้นพันกันรัวๆ จะพูดแล้วปากมันไม่ไปตาม ฝึกแบบนี้เลยครับ
ท่าแรกคือ ท่า ยิ้มกว้างๆครับ ฉีกยิ้มให้จนถึงรูหูไปได้เลยยิ่งดี ดูตัวอย่างภาพด้านล่าง
ท่าที่สอง คือ ท่าปากหมู บีบปากเข้าหากัน ทำปากเจ่อๆ ดูตัวอย่างรูปด้านล่างครับ (น้องเค้าทำน่ารัก ให้ผมทำคงน่าชัง)
ทำสองท่านี้สลับกันไปครับ พันครั้งงงงง … ฟังไม่ผิดครับ 1,000 ครั้ง จริงๆ
จากประสบการณ์ คือ ประมาณ 100 ครั้งจะเริ่มเมื่อย พอไปถึงซัก 500 ครั้ง จะเมื่อยมาก ปากจะเริ่มขยับช้าลง เมื่อสุดๆ หน้าเริ่มร้อนๆ กล้ามเนื้อเริ่ม warm up เรียบร้อย เราก็ฝืนทนไปจนครบหนึ่งพันที …. แบบฝึกหัดนี้ ทำทุกวันครับ อย่าได้พัก ครูเคทสอนว่า ตอนที่ครูเคทอ่านข่าว ก็ต้องบริหารกล้ามเนื้อปากทุกวันก่อนอ่านข่าวครับ
2. ท่อง A-Z ไปจนกว่าจะพูดให้ถูกต้อง
อันนี้ไว้ blog หน้า จะพยายามมาเขียนสรุปให้นะครับ ว่าออกเสียง A-Z ออกยังไง
3. ฝึกไล่คำเป็นชุดๆ ให้ stress เสียงให้ถูกต้อง
ติดไว้เป็น blog หน้าเหมือนกันครับ
4. ลองพูดภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆ
อะไรอยู่ในหัวก็พูดไปครับ ลองฝึกเล่าเรื่องที่เราเจอในวันนี้เป็นภาษาอังกฤษ หรือ เรื่องงาน เรื่องที่เราสนใจ พูดไปห้ามติดขัด ถ้าติด ก็เริ่มพูดใหม่ตั้งแต่ต้น
ผมฝึกเท่านี้จริงๆ ครับ ภายใน 2 อาทิตย์ สำเนียงเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยนเลย
เวลาไปเที่ยวอเมริกา ฝรั่งชอบมาถามว่าอยู่ที่อเมริกามากี่ปีแล้ว พูดได้คล่องมากเลย (จริงๆ คือ เครื่องลงเมื่อวานนี้) ลองฝึกกันดูนะครับ อยากให้คนไทยทุกคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องปรื๋อออออ